วางแผนบำรุงรักษา
เครื่องจักร

ตุลาคม 2, 2021

การบำรุงรักษาเชิงวางแผนเป็นกิจกรรมที่มุ่งประสิทธิผลงานบำรุงรักษาด้วยการตรวจจับความบกพร่องเพื่อให้เครื่องจักรมีสภาพพร้อมใช้งานสูงสุดและลดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา ทั้งยังดำเนินกิจกรรมปรับปรุงสภาพเครื่องจักรที่มุ่งขจัดความขัดข้องและปัญหาการหยุดเดินเครื่องจักร โดยใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อระบุกำหนดการบำรุงรักษาดำเนินการโดยบุคลากรฝ่ายบำรุงรักษาร่วมกับแรงงานสายการผลิต
การบันทึกสภาพปัญหาเครื่องจักรและประเมินผลเบื้องต้น การฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร การสร้างระบบสารสนเทศงานบำรุงรักษา การจัดเตรียมข้อมูลคัดเลือกเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนให้สอดคล้องกับแผนงานบำรุงรักษา รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงแผนงานต่อเนื่อง

การกำหนดเป้าหมายงานบำรุงรักษาควรดำเนินการร่วมระหว่างฝ่ายบำรุงรักษากับฝ่ายงานเกี่ยวข้องแต่แผนงานมักเกิดข้อจำกัดบางประการเนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรอาทิ บุคลากรเวลาและงบประมาณโดยดำเนินกิจกรรมตามแผนงานที่ระบุไว้ อาทิ การตรวจเช็คตามรอบเวลาการซ่อมใหญ่และการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ การปรับตั้งเครื่องและการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามรอบเวลาการนำสารสนเทศการขัดข้องเพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น การค้นหาปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดความบกพร่องการควบคุมความเที่ยงตรงของเครื่องด้วยการสอบเทียบ รวมถึงการควบคุมความพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกงานบำรุงรักษา โดยเฉพาะอะไหล่ด้วยการวินิจฉัยและคาดการณ์ความเสื่อมสภาพสภาพเครื่องจักร ด้วยการวิเคราะห์สภาพการหล่อลื่นและการวิเคราะห์ความสั่นสะเทือนสำหรับฝ่ายบำรุงรักษาจะมีบทบาทสนับสนุนการฝึกอบรมให้ทีมงานบำรุงรักษาด้วยตนเอง ซึ่งดำเนินการโดยผู้ควบคุมเครื่องจักรประกอบด้วยขั้นตอนหลัก ดังนี้

  1. ช่วงเริ่มต้นโครงการปรับปรุงเครื่องจักร โดยมีการอธิบายหน้าที่การทำงานเครื่องจักรการระบุรายการทำความสะอาดการตรวจสอบและการหล่อลื่น ซึ่งมีการจัดทำเอกสารบทเรียนจากปัญหาให้ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้และแนะนำวิธีการตรวจสอบขณะที่ดำเนินการทำความสะอาด รวมทั้ง ฝึกอบรมเรื่องการเคลื่อนย้ายงานและตรวจสอบกลไกทำงานขณะเดินเครื่องเพื่อค้นหาความผิดปกติ โดยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถกำหนดเกณฑ์การตรวจสอบ
  2. การวิเคราะห์สาเหตุต้นตอและประเภทปัญหาความบกพร่องในสายการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเวลาการเดินเครื่องจักรและคุณภาพผลิตผล โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการควบคุมคุณภาพสู่การประกันคุณภาพด้วยการศึกษาองค์ประกอบหลักของเครื่องจักรที่ส่งผลต่อคุณภาพผลิตผลและดำเนินการขจัดต้นตอปัญหาซึ่งมีการติดตามวัดผลตามรอบเวลาเพื่อใช้ข้อมูลดำเนินกิจกรรมไคเซ็นและจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นโดยมีรายละเอียด ดังนี้
    • ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ อาทิ ตำแหน่งที่เกิดปัญหาความบกพร่อง ความรุนแรงแต่ละประเภทปัญหา ความถี่การตรวจพบปัญหาแต่ละช่วงการทดสอบ รวมทั้งข้อมูลแสดงแนวโน้มการเกิดปัญหาทางคุณภาพตามรอบเวลา
    • ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการโดยเฉพาะเงื่อนไขการทำงานแต่ละกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานวิธีการทำงานวัสดุและเครื่องจักรการกำหนดมาตรฐานหรือเงื่อนไขการทำงานของแต่ละกระบวนการข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับสภาพการทำงานขณะที่เกิดปัญหาขึ้น
  3. จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบป้องกัน อาทิ
    • สร้างระบบควบคุมด้วยการมองเห็นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสะดวกต่อการตรวจจับปัญหาและสามารถเข้าถึงจุดที่ยากต่อการตรวจสอบ
    • กำหนดความถี่และวิธีการดำเนินกิจกรรมอาทิ การทำความสะอาดการหล่อลื่นการขันแน่น รวมถึงการให้คำแนะนำกับผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาการทำงาน
    • จัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นไว้ในพื้นที่ทำงานเพื่อสามารถหยิบใช้งานได้สะดวก
    • จัดเตรียมใบงานแสดงการขัดข้อง เพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขความผิดปกติที่ถูกตรวจพบ
    • ทำการสาธิตอธิบายแนวทางดำเนินการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและการบำรุงรักษาด้วยตนเอง
    • กำหนดมาตรฐานการหล่อลื่นและตรวจสอบแรงดันอุณหภูมิมาตรฐานทำความสะอาด
EnglishThai
X